7.7.54

Competency


Competency

สมรรถนะ (competency) เป็นปัจจัยในการทำงานที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์การ  โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารทรัพยากรมนุษย์  เพราะสมรรถนะเป็นปัจจัยช่วยให้พัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อให้ส่งผลไปสู่การพัฒนาองค์การ
               องค์การต่าง ๆ จึงพยายามเอาสมรรถนะมาใช้เป็นปัจจัยในการบริหารองค์การในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารทรัพยากรมนุษย์  การพัฒนาหลักสูตร  การพัฒนางานบริการ  หรือการพัฒนาภาวะผู้นำของผู้บริหาร  เป็นต้น  ดังนั้นเพื่อให้มองเห็นกรอบความคิด  และแนวความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับสมรรถนะจึงจะกล่าวถึงความเป็นมา  และความหมาย  องค์ประกอบประเภทของสมรรถนะ  การกำหนดสมรรถนะ  การวัดสมรรถนะ  และการประยุกต์ใช้สมรรถนะ
ประโยชน์ของ competency
ในปัจจุบันองค์การของเอกชนชั้นนำได้นำแนวคิดสมรรถนะไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานมากขึ้น  และยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสมัยใหม่ที่องค์การต้องได้รับความพึงพอใจอยู่ในระดับต้น ๆ มีการสำรวจพบว่ามี 708 บริษัททั่วโลก  นำ Core  Competency  เป็น 1 ใน 25 เครื่องมือที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ  3 รองจาก Coporate Code of Ethics  และ  Strategic Planning (พสุ  เดชะรินทร์  2546 : 13)  แสดงว่า Core  competency  จะมีบทบาทสำคัญที่จะเข้าไปช่วยให้งานบริหารประสบความสำเร็จ  จึงมีผู้สนใจศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการนำหลักการของสมรรถนะมาปรับให้เพิ่มมากขึ้น หน่วยงานของรัฐและเอกชนของไทยหลายหน่วยงานได้ให้ความสนใจนำมาใช้เช่น  บริษัทปูนซีเมนต์ไทย  ปตท.  และสำนักงานข้าราชการพลเรือน  เป็นต้น
 
องค์ประกอบของสมรรถนะ
                มี 5 ส่วนคือ
                1.  ความรู้ (knowledge) คือ  ความรู้เฉพาะในเรื่องที่ต้องรู้  เป็นความรู้ที่เป็นสาระสำคัญ  เช่น  ความรู้ด้านเครื่องยนต์  เป็นต้น
                2.  ทักษะ (skill) คือ  สิ่งที่ต้องการให้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น  ทักษะทางคอมพิวเตอร์  ทักษะทางการถ่ายทอดความรู้  เป็นต้น  ทักษะที่เกิดได้นั้นมาจากพื้นฐานทางความรู้ และสามารถปฏิบัติได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว
                3.   ความคิดเห็นเกี่ยวกับตนเอง (self – concept) คือ  เจตคติ  ค่านิยม  และความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตน  หรือสิ่งที่บุคคลเชื่อว่าตนเองเป็น  เช่น  ความมั่นใจในตนเอง  เป็นต้น
               4.   บุคลิกลักษณะประจำตัวของบุคคล (traits) เป็นสิ่งที่อธิบายถึงบุคคลนั้น  เช่น  คนที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้  หรือมีลักษณะเป็นผู้นำ  เป็นต้น
               5.   แรงจูงใจ / เจตคติ (motives / attitude) เป็นแรงจูงใจ หรือแรงขับภายใน   ซึ่งทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย  หรือมุ่งสู่ความสำเร็จ  เป็นต้น
ประเภทของสมรรถนะ

ประเภทของสมรรถนะ
      สมรรถนะสามารถจำแนกได้เป็น 5 ประเภทคือ
      1.   สมรรถนะส่วนบุคคล (Personal Competencies)
            หมายถึง  สมรรถนะที่แต่ละคนมี  เป็นความสามารถเฉพาะตัว  คนอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้   เช่น  การต่อสู้ป้องกันตัวของ  จา  พนม  นักแสดงชื่อดังในหนังเรื่อง “ต้มยำกุ้ง”   ความสามารถของนักดนตรี  นักกายกรรม  และนักกีฬา  เป็นต้น  ลักษณะเหล่านี้ยากที่จะเลียนแบบ  หรือต้องมีความพยายามสูงมาก
     2.   สมรรถนะเฉพาะงาน  (Job  Competencies)
            หมายถึง  สมรรถนะของบุคคลกับการทำงานในตำแหน่ง  หรือบทบาทเฉพาะตัว  เช่น  อาชีพนักสำรวจ  ก็ต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ตัวเลข  การคิดคำนวณ  ความสามารถในการทำบัญชี  เป็นต้น
      3.   สมรรถนะองค์การ (Organization  Competencies)
             หมายถึง  ความสามารถพิเศษเฉพาะองค์การนั้นเท่านั้น  เช่น  บริษัท  เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด  เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า  หรือบริษัทฟอร์ด (มอเตอร์) จำกัด  มีความสามารถในการผลิตรถยนต์  เป็นต้น  หรือ บริษัท ที โอ เอ (ประเทศไทย) จำกัด  มีความสามารถในการผลิตสี   เป็นต้น
4.   สมรรถนะหลัก (Core  Competencies)
             หมายถึง  ความสามารถสำคัญที่บุคคลต้องมี  หรือต้องทำเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  เช่น  พนักงานเลขานุการสำนักงาน  ต้องมีสมรรถนะหลัก คือ  การใช้คอมพิวเตอร์ได้  ติดต่อประสานงานได้ดี  เป็นต้น  หรือ  ผู้จัดการบริษัท  ต้องมีสมรรถนะหลัก คือ  การสื่อสาร  การวางแผน  และการบริหารจัดการ  และการทำงานเป็นทีม  เป็นต้น
      
5.   สมรรถนะในงาน (Functional  Competencies)
              หมายถึง  ความสามารถของบุคคลที่มีตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ  ตำแหน่งหน้าที่อาจเหมือน  แต่ความสามารถตามหน้าที่ต่างกัน  เช่น  ข้าราชการตำรวจเหมือนกัน  แต่มีความสามารถต่างกัน  บางคนมีสมรรถนะทางการสืบสวน  สอบสวน  บางคนมีสมรรถนะทางปราบปราม  เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น